กฏหมายฉลากเครื่องสำอางที่เจ้าของแบรนด์ต้องรู้

Last updated: 19 ม.ค. 2567  |  42 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กฏหมายฉลากเครื่องสำอางที่เจ้าของแบรนด์ต้องรู้

กฏหมายฉลากเครื่องสำอางที่เจ้าของแบรนด์ต้องรู้

          หากคุณมีความสนใจในธุรกิจเครื่องสำอาง นอกจากที่คุณจะรู้ส่วนผสมของเครื่องสำอางแล้ว คุณจะต้องมีความรู้ในเรื่องของกฎหมายฉลากเครื่องสำอางด้วย ก่อนที่จะออกมาวางจำหน่ายให้กับลูกค้า เพราะในยุคนี้กฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจ เครื่องสำอางมีความชัดเจน และมีความผิดขั้นร้ายแรง สำหรับผู้ที่เริ่มธุรกิจเครื่องสำอาง ก็จะต้องเน้นไปที่ความรู้ในเรื่องของกฎหมาย ที่จะต้องมีกระบวนการที่ถูกวิธี ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบโดย อย. หรือ การมีฐานผลิตที่เป็นหลักแหล่ง มีโรงงานที่ได้รับการตรวจสอบคุณภาพ ได้รับมาตรฐานการผลิต ดังนั้นแล้วฉลากสินค้า หรือ ฉลากเครื่องสำอาง จำเป็นต้องมีข้อมูลเบื้องต้นดังต่อไปนี้

1. ชื่อทางการค้า และชื่อเครื่องสำอาง

          ในส่วนนี้ผู้ขายมักจะให้ความสำคัญอยู่แล้ว การแสดงชื่อเครื่องสำอางบนฉลากจึงมีความชัดเจนโดดเด่นอย่างมาก แต่จะมีข้อควรระวังอยู่บ้างก็คือ เครื่องสำอางมักจะมีความหลากหลายในชื่อรุ่นเฉดสี หรือ กลิ่นโดยผู้บริโภคต้องพิจารณาชื่อผลิตภัณฑ์ให้ดีก่อนซื้อ

ชื่อการค้าหรือชื่อเครื่องสำอาง มีแนวทางการพิจารณา รับแจ้งในส่วนของชื่อการค้าและชื่อของเครื่องสำอาง ดังนี้

  • ข้อความที่ใช้เป็นชื่อการค้าและชื่อเครื่องสำอาง ที่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษต้องมีความหมายสอดคล้องตรงกัน หรือใช้ทับศัพท์
  • ต้องไม่ใช้ข้อความไปในทำนองโอ้อวด ไม่สุภาพ
  • ต้องไม่ใช้ข้อความ / คำศัพท์ / ตัวย่อ / คำพ้องรูป / คำพ้องเสียง / ตัวอักษร / ตัวเลข / การออกเสียง ที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง หรือสื่อความหมาย/แสดงสรรพคุณเกินขอบข่ายเครื่องสำอาง หรือไปในทางยา
  • ต้องไม่ใช้ข้อความ ที่ไม่เหมาะสมกับวัฒนธรรมอันดีงามของไทย หรือสื่อถึงการใช้ทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งมิใช่เครื่องสำอาง
  • ต้องไม่ใช้ข้อความ ที่ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นผลิตภัณฑ์ยา หรือผลิตภัณฑ์อื่นที่ไม่ใช่เครื่องสำอาง 


2. ประเภทหรือชนิดของเครื่องสำอาง

          เพื่อแสดงให้ทราบว่า เครื่องสำอางนี้เป็นผลิตภัณฑ์อะไร ใช้เพื่ออะไร เช่น ครีมป้องกันแสงแดด สบู่ ครีมบำรุงผิว แชมพูสระผม เป็นต้น 

โดยทั่วไป มักแบ่งเครื่องสำอางเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ตามประโยชน์ใช้งาน คือ

  • ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว หรือ สกินแคร์ (Skin care products)
  • ผลิตภัณฑ์แต่งหน้า หรือ เมคอัพ (Make up products) 


3. ส่วนประกอบสำคัญ

          แจกแจงรายละเอียดของส่วนประกอบสินค้า และจะต้องเรียงลำดับตามปริมาณของสารจากมากไปหาน้อย ข้อมูลนี้จะมีประโยชน์มากหากเราใช้เครื่องสำอางแล้วเกิดอาการแพ้ ระคายเคือง จะได้จดจำไว้เป็นข้อมูลส่วนตัวว่าแพ้สารประเภทใด หรือถ้าทราบว่ามีประวัติแพ้สารใดมาก่อน ก็สามารถตรวจสอบรายละเอียดของส่วนประกอบในเครื่องสำอางก่อนซื้อ เพื่อที่จะได้หลีกเลี่ยงสารเคมีที่แพ้ได้ง่ายขึ้น


4. วิธีใช้

          ควรระบุวิธีใช้ให้ละเอียด และเข้าใจง่าย เพื่อให้ลูกค้าใช้ได้อย่างถูกต้อง และประสิทธิภาพในการใช้สูงสุด ปลอดภัย เช่น ครีมกันแดดควรทาก่อนออกแดดอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง ครีมบำรุงผิวหน้าบางชนิดต้องใช้ทาเฉพาะกลางคืน เพื่อมิให้ผิวหนังบริเวณนั้นถูกแสงแดด เครื่องสำอางบางชนิดใช้แล้วต้องล้างออกด้วยน้ำ บางชนิดไม่ต้องล้าง ก็ต้องใช้ให้ถูกต้องเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด


5. ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต/ผู้นำเข้า

          เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ อีกทั้งเป็นการแสดงความรับผิดชอบของเจ้าของผลิตภัณฑ์หากผู้บริโภคเกิดปัญหาใดๆก็สามารถติดต่อไปยังผู้รับผิดชอบได้ทั้งในกรณีเครื่องสำอางที่ผลิตในประเทศหรือนำเข้ามาจากต่างประเทศ


6. ปริมาณสุทธิ

          ปริมาณสุทธิต้องเป็นน้ำหนักหรือปริมาตรเครื่องสำอางที่ไม่รวมภาชนะบรรจุ พร้อมระบุหน่วย เช่น กรัม (g) 


7. เลขที่แสดงครั้งที่ผลิต

          เพื่อให้ทราบถึง Lot. ที่ทำการผลิต เช่น หากเกิดปัญหาทำให้เราทราบว่ามาจากของ Lot ไหน


8. วัน เดือน ปี ที่ผลิต

          การแจ้งวันเดือนปีที่ผลิต จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างยิ่ง และทำให้เกิดความมั่นใจในการซื้อ อักษรย่อคำว่า MFG. หมายถึง Manufactured Date หรือวันที่ผลิตสินค้า

 

9. วัน เดือน ปี ที่หมดอายุ

          การแจ้งวันเดือนปีที่หมดอายุจะทำให้ทราบถึงอายุของผลิตภัณฑ์ อักษรย่อคำว่า EXP. หมายถึง Expired Date หรือวันที่สินค้าจะหมดอายุ 

 

10. คำเตือน (ในบางกรณี)

          เครื่องสำอางบางประเภทจะต้องแสดงคำเตือนที่ฉลากด้วยเนื่องจากผลิตภัณฑ์นั้นอาจก่อให้เกิดความระคายเคืองได้ง่าย เช่น ผลิตภัณฑ์ย้อมผม เพื่อให้ผู้บริโภคได้ทราบถึงข้อควรระวังในการใช้เครื่องสำอางนั้นๆ เช่น ให้หยุดใช้เมื่อเกิดอาการระคายเคือง และควรพบแพทย์ทันที ดังนั้นอย่าลืมศึกษาคำเตือนให้เข้าใจ และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด


11. เลขที่ใบรับจดแจ้ง

          เลขที่ใบรับแจ้ง หรือเลขที่จดแจ้งเป็นเลข 10 หลัก บนฉลากเครื่องสำอาง เพราะเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งชี้ว่าผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางนั้นได้มาแจ้งรายละเอียดตามข้อกำหนดการผลิตเพื่อขาย หรือ นำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอาง ที่ไปทำการขึ้นทะเบียนจดแจ้งกับทางกระทรวงสาธารณสุข เริ่มจาก ผู้ประกอบการจะเป็นบุคคล หรือ นิติบุคคลก็ได้

 

หากอยากมีฉลากเครื่องสำอางที่ถูกต้อง ควรจะต้องมีรายละเอียดสินค้าที่ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นวันที่ผลิต สถานที่ผลิต รวมทั้งคำแนะนำ วิธีใช้ต่างๆ ต้องให้ครอบคลุม มีรายละเอียดที่ชัดเจน เพราะการให้ความสำคัญของฉลากสินค้า จะมีผลต่อทั้งผู้ผลิต กับ ผู้บริโภคเป็นอย่างมาก นี่คืออีกหนึ่งช่องทางที่จะทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่คุณเป็นผู้ประกอบการนั้นดูน่าเชื่อถือมากขึ้น

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้